สนับสนุนโดย... กรมส่งเสริมวัฒธรรม กระทรวงวัฒนธรรม



ประวัติชุมชน
เมืองอุทัยธานี เดิมคือหมู่บ้านสะแกกรัง สมัยสุโขทัยเรียก "อู่ไทย" หมายถึง ที่อยู่ของคนไทย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ บ้านสะแกกรังจึงขยายตัวใหญ่ขึ้น และมีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นเมืองใหญ่ ในปี พ.ศ. 2453 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านสะแกกรังถูกยกขึ้นเป็นเมืองอุทัยธานี และได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระชนกจักรี เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1
แม่น้ำสะแกกรัง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวอุทัยธานี มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตเทือกเขาโมโกจู ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเรือนแพ ซึ่งในอดีตแม่น้ำสะแกกรังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและแหล่งการค้าที่สำคัญในแถบภาคกลาง บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพอยู่เรียงราย ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ ซึ่งชุมชนเรือนแพถือเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นของเมืองอุทัยธานี คาดว่าเป็นชุมชนที่มีการใช้ชีวิตอยู่บนเรือนแพแห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย เป็นวิถีชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบ้านเรือน วิถีชาวแพ สายน้ำ และธรรมชาติ ที่หลอมรวมอยู่ในชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้
ลุงฉลอง ผู้รู้เกี่ยวกับชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง เล่าว่า “ลุงเกิดในแพ ปู่ก็อยู่แพ พ่อก็อยู่แพ มีอาชีพล่องเรือเอี่ยมจุ๊น บรรทุกสินค้าขึ้นล่องกรุงเทพฯ ภายหลังได้มาเดินเรืออยู่ในอุทัยธานี จึงสร้างเรือนแพขึ้นจากภูมิปัญญาของคนเดินเรือสมัยนั้น” จากเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัวลุงฉลอง ที่เล่าเรื่องราวการก่อตั้งบ้านเรือนแพที่อุทัยธานี ตั้งแต่สมัยปู่ หากนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันถือว่าเป็นเวลา 3 ช่วงอายุคนแล้ว จึงอาจคาดการณ์ได้ว่าชุมชนชาวแพลุ่มแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้ ได้มีการสร้างบ้านเรือนมาเป็นเวลา 200 กว่าปีแล้ว
ปัจจุบันชุมชนชาวแพที่อุทัยธานียังมีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมการกินอยู่แบบชาวบ้านง่ายๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เรือนแพที่ตั้งอยู่มีบ้านเลขที่เหมือนกับบ้านทั่วไป เดิมมีมากกว่า 300 หลัง แต่ปัจจุบันยังเหลือชาวแพที่อยู่บนแพประมาณ 100 หลัง และทางการก็ไม่อนุญาตให้ออกทะเบียนบ้านให้แพที่จะสร้างใหม่แล้ว โดยในชุมชนจะมีทั้งผู้นำชุมชนคือแพผู้ใหญ่และมีองค์ประกอบของชุมชนเหมือนชุมชนบนบกแทบทุกอย่าง ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ ค้าขายในตลาด และทำประมงหาปลา โดยการลงข่าย ทอดแห ดักลอบ แบบภูมิปัญญาการหาปลาดั้งเดิม ส่วนอาชีพเสริม คือ เลี้ยงปลาในกระชัง ส่วนใหญ่เลี้ยงปลาแรด ซึ่งเป็นปลาที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี